รู้ถึง : การทำ CPR คืออะไร (Cardiopulmonary Resuscitation)

การทำ-CPR-คืออะไร

การทำ CPR คืออะไร เรามักจะได้ยินเกี่ยวกับการทำ CPR กันบ่อย ปัจจุบันหลายๆ คนอาจเคยพบเห็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานในสถานประกอบกิจการต่างๆ บ่อยครั้งที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นแต่ปรากฏว่าผู้พบเห็นเหตุการณ์หรือเพื่อนร่วมงานไม่สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้ ตลอดจนการทำ CPR ท้ายที่สุดแล้วก็จะเกิดการสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทำให้นายจ้างได้เล็งเห็นถึงความสำคัญกับการให้ความรู้แก่พนักงานในองค์กร เพื่อให้พนักงานได้เข้าใจเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการทำ CPR อย่างถูกวิธี

CPR-คืออะไร

CPR คือ : การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อฟื้นคืนชีพให้กับผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้กลับมามีชีพจรดังเดิมอีกครั้ง

การทำ CPR ทำตอนไหน

โดยให้ทำตอนที่ผู้ป่วยหยุดหายใจหรือเมื่อเช็คที่ชีพจรแล้ว ไม่มีการเต้นของหัวใจ เหตุการณ์แบบนี้เราสามารถพบได้ทั่วไป แต่จะมีสักกี่ครั้งที่สามารถช่วยเหลือฟื้นคืนชีพได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากสมองของคนเราไม่สามารถขาดออกซิเจนได้เกิน 4 นาที การทำ CPR จึงช่วยส่งเลือดพร้อมออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง หากพบเห็นผู้ป่วยที่หยุดหายใจและสามารถช่วยเหลือทำ CPR ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ผู้ป่วยรายนั้นก็จะมีโอกาสการรอดชีวิตมากขึ้น ลดการสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

ทำ-CPR-ทำตอนไหน

4 ขั้นตอนการทำ CPR  (Cardiopulmonary Resuscitation)

การทำ CPR มีด้วยกันทั้งหมด 4 ขั้นตอนให้ทุกคนจำง่ายๆ คือ กดให้ลึก กดให้ร้อย ปล่อยให้สุด และอย่าหยุดกด

  1. กดให้ลึก หมายถึง การกดหน้าอก โดยกดหน้าอกลงไปให้ลึกจากระดับเดิม 2 -2.4 นิ้ว
  2. กดให้ร้อย หมายถึง อัตราความเร็วในการกด 100-120 ครั้งต่อ 1 นาที
  3. ปล่อยให้สุด หมายถึง เมื่อกดหน้าอกยุบลงไปประมาณ 2-2.4 นิ้วแล้วให้ปล่อยหน้าอกกลับมาฟูเหมือนเดิมทุกครั้ง ก่อนกดใหม่
  4. อย่าหยุดกด หมายถึง อย่าหยุดการกดหน้าอก จนกว่าจะมีทีมเข้ามาช่วยเหลือหรือผู้ช่วยคนนั้นไม่สามารถกดต่อได้ เนื่องจากเกิดความเมื่อยล้า

การทำCPR

การทำ CPR จะได้ผลดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความลึก และ จำนวนครั้งในการกด หากกดลึกและเร็วได้อย่างสม่ำเสมอการทำ CPR ฟื้นคืนชีพก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ หากสามารถทำกันเป็นทีมได้อย่างน้อยในทีม 3 คน ได้แก่ คนที่ 1 มีหน้าที่เข้าประเมิน คนที่ 2 มีหน้าที่ประสานงานขอความช่วยเหลือหรือโทร 1669 เรียกรถพยาบาล และคนที่ 3 คอยจับเวลาพร้อมกับผลัดเปลี่ยนตำแหน่งกันได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม การทำ CPR สำหรับเด็กและผู้ใหญ่นั้นแตกต่างกันออกไป เนื่องจากวิธีการกดหน้าอกจะต้องแยกแยะ เช่นเ ด็กจะใช้วิธีการดูความหนาของลำตัว กดเพียง 1-3 ของลำตัวเด็กเท่านั้น ส่วนทารกให้ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางทำการกดบริเวณตำแหน่งกึ่งกลางอกส่วนล่าง สำหรับสุภาพสตรีให้วัดจากลิ้นปี่ขึ้นมา 2 นิ้ว ส่วนมือที่ใช้กดให้ใช้ฝ่ามือทั้งสองฝั่งประสานทับกันเลือกใช้บริเวณส้นมือวางลงไปตำแหน่งที่ระบุไว้ แขนทั้งสองข้างจะต้องเหยียบตรึง ไม่งอข้อศอก

ความสำคัญของการอบรมปฐมพยาบาล

การอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้นถือได้ว่ามีความสำคัญมากๆ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมปฐมพยาบาลมีความรู้และมีความเข้าใจสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บถึงผู้ที่กำลังมีอันตรายให้ปลอดภัยก่อนที่ทีมแพทย์จะมาถึง หากนายจ้างส่งลูกจ้างเข้ารับการอบรมปฐมพยาบาล ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะอุบัติเหตุจากการทำงานนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ หากเพื่อนพนักงานมีความรู้และมีความเข้าใจในด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก็จะนำมาสู่การรับมือกับภาวะฉุกเฉินต่างๆ นั้นได้ ลดความสูญเสียหรือทำให้จากอาการหนักนั้นกลายเป็นเบาลง

การเรียนรู้และเข้าใจด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ต่อทั้งตัวคุณเองและคนรอบข้างด้วย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ไม่ว่าจะบาดเจ็บเล็กน้อยหรือได้รับบาดเจ็บมาก คุณจะสามารถช่วยเหลือผู้คนรอบข้างให้พ้นจากภาวะอันตรายได้

บริการที่เกี่ยวข้องของเราเผื่อคุณสนใจ