ข้อควรปฏิบัติเมื่อต้องทำงานกับสารเคมีอันตราย

ข้อปฏิบัติในการทำงานร่วมกับสารเคมีอันตราย

สารเคมีเป็นสิ่งที่มีบทบาทกับชีวิตประจำวันมาก เพราะมีการใช้งานตั้งแต่สารเคมีในครัวเรือนทั่วไปไปจนถึงบุคลากรที่ต้องทำงานกับสารเคมีตามองค์กรธุรกิจต่างๆ สารเคมีเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย ทั้งต่อตนเอง สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้ามีองค์ความรู้ในการใช้งานแบบผิดๆก็จะก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นเมื่อความปลอดภัยมาดูสิ่งที่ควรในการทำงานกับสารเคมีกันก่อนดีกว่า

 

อันตรายของสารเคมี

สารเคมีนั้นก่อให้เกิดอันตรายได้หลากหลายรูปแบบ สำหรับในมนุษย์ผลกระทบนั้นอาจจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหรือเรื้อรังก็ได้ บางกรณีอาจส่งผลกระทบไปถึงเด็กในครรภ์หรือส่งผลในระยะยาว เช่น เนื้องอก มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งอันตรายนั้นมีความรุนแรงหลายระดับตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงถึงแก่ชีวิต นอกเหนือจากผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงกับมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆแล้วสารเคมียังก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายอื่นได้อีก เช่น ระเบิด ไฟไหม้ เป็นต้น

การสัมผัสสารเคมี

โดยทั่วไปแล้วคนเราสามารถรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายได้ 3 วิธี ได้แก่ การสูดดม การดูดซึมทางผิวหนังและการรับประทาน โดยไม่ว่าวิธีไหนผลกระทบก็อาจจะมีทั้งเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงได้ทั้งหมด

เกณฑ์การปฏิบัติตนเมื่อต้องทำงานกับสารเคมี

  • ผู้ปฏิบัติงานร่วมกับสารเคมีจะต้องทราบข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (MSDS) โดยละเอียด
  • จัดทำเอกสารแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องและปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้สารเคมี โดยต้องจัดอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้วย
  • มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยจากสารเคมี เช่น หน้ากาก แว่นตา ถุงมือยาง รองเท้ายาง
  • สารเคมีทุกชนิดต้องมีการติดฉลากอย่างครบถ้วนและชัดเจน
  • จัดทำเอกสารรายการสารเคมี โดยต้องทำอย่างละเอียด ต้องบันทึกปริมาณการซื้อ/การนำออกมาใช้ รายชื่อผู้นำออกมาใช้ หน่วยงานฉุกเฉินและช่องทางติดต่อให้ครบถ้วน อย่าลืมจัดเก็บสารเคมีอย่างให้มิดชิดและปลอดภัยด้วย
  • อ่านฉลากก่อนใช้สารเคมี แบ่งใช้สารเคมีในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เหลือใช้ เวลาเทต้องเทด้านตรงข้ามฉลากเพื่อป้องกันไม่ให้ฉลากเลือนหาย
  • งดทานอาหาร ดื่มน้ำ สูบบุหรี่หรือดื่มสุราขณะใช้สารเคมี
  • ล้างมือและทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังใช้สารเคมี
  • สถานที่ใช้งานต้องระบายอากาศได้ดี เหมาะสมกับสารเคมีแต่ละประเภท ดูแลให้เป็นระเบียบอยู่เสมอ หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายถ่ายเทสารเคมี ต้องทำอย่างระมัดระวัง
  • ทบทวนความจำเป็นและความปลอดภัยในการใช้งานสารเคมีอยู่เสมอ หากมีสารเคมีที่อันตรายน้อยกว่าตัวที่ใช้อยู่ ควรเปลี่ยนมาใช้ตัวที่อันตรายน้อยกว่าแทน
  • เฝ้าระวัง ติดตามและประเมินบุคลากรที่ต้องทำงานร่วมกับสารเคมีอยู่เสมอ เพื่อตรวจสอบว่าร่างกายได้รับสารเคมีเกินกำหนดหรือไม่

อันตรายของสารเคมี

การเก็บรักษาสารเคมี

เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เก็บอย่างถูกต้องตามเอกสารความปลอดภัยของสารเคมีภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการจัดเก็บ เช่น ที่แห้งและเย็น ปราศจากเด็ก สัตว์และแมลง ห่างจากแสงแดดหรือเปลวไฟ เป็นต้น บรรจุภัณฑ์ต้องมีการติดฉลากอย่างชัดเจนด้วยภาษาที่ผู้ใช้เข้าใจ จัดวางอย่างเป็นระเบียบ ไม่อัดแน่นจนเกินไป ห้องหรือสถานที่จัดเก็บหากมีไว้เฉพาะเก็บสารเคมีจะดีกว่าวางรวมของใช้ประเภทอื่น มีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยเตรียมเสมอ เช่น เครื่องดับเพลิง เป็นต้น หากมีสารเคมีที่สามารถสร้างปฏิกิริยารุนแรงต่อกันได้ ไม่ควรวางไว้ใกล้กัน ตรวจสอบสารเคมีอย่างสม่ำเสมอว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น บรรจุภัณฑ์แตกรั่ว สารเคมีตกตะกอน/แยกชั้น/ตกผลึกหรือเสื่อมภาพ ควรนำไปกำจัดทิ้งอย่างเหมาะสมต่อไป

การทิ้งและการกำจัดสารเคมี

เบื้องต้นให้กำจัดตามฉลากหรือข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีประเภทนั้นๆ ปฏิบัติตามข้อห้ามอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะการห้ามทิ้งลงแหล่งน้ำโดยตรง เพราะจะส่งผลกระทบต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมได้ สารเคมีบางชนิดอันตรายมาก ต้องเก็บใส่ถุงแยกจากสารประเภทอื่น งดนำบรรจุภัณฑ์ของสารเคมีมาหมุนเวียนใช้ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรจุอาหารและน้ำดื่ม

แนวทางการปฏิบัติเมื่อประสบอุบัติเหตุจากสารเคมี

การมีเหตุไฟไหม้/การระเบิด/การรั่วไหล ให้รีบอพยพผู้คนออกจากบริเวณนั้นทันทีแล้วแจ้งเหตุแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หากมีผู้บาดเจ็บให้รีบนำส่งพยาบาลโดยด่วนที่สุด แต่ถ้าถ้ารถพยาบาลยังไม่มา ให้ปฐมพยาบาลพื้นต้นตามความเหมาะสม ดังนี้

  • ทำการกู้ชีพ (CPR) ในกรณีที่หัวใจหยุดเต้น
  • หากสารเคมีเข้าตา ห้ามขยี้ตา ให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดต่อเนื่องอย่างน้อย 15 นาที
  • หากสารเคมีสัมผัสผิวหนัง ให้ถอดเสื้อผ้าที่เปราะเปื้อนออก จากนั้นเปิดน้ำสะอาดให้ไหลผ่านผิวหนังอย่างน้อย 15 นาที
  • หากกลืนกินสารเคมี ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีสติควรกระตุ้นให้อาเจียน ยกเว้นจะกลืนกินสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง งดทำให้อาเจียน เพราะอาจเกิดการกัดกร่อนมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ ห้ามกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจสำลักจนเสียชีวิตได้
  • นำตัวผู้ป่วยที่ถูกสารเคมีไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หากเป็นไปได้ควรนำฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ของสารเคมีนั้นๆไปด้วย
  • หากต้องเข้าไปช่วยผู้ประสบเหตุ พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรงโดยการสวมใส่ชุดที่รัดกุมและสามารถปกป้องจากร่างกายจากการสัมผัสสารเคมีได้
  • ในกรณีที่สารเคมีที่รั่วไหลเป็นสารไวไว ต้องดับไฟในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงโดยด่วนที่สุด หลีกเลี่ยงกิจกรรมใดๆที่จะทำให้เกิดประกายไฟด้วย หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดับเพลิง ก็เลือกใช้อย่างเหมาะสม
  • จำกัดพื้นที่การรั่วไหลของสารเคมีให้แคบที่สุด โดยเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้นในบริเวณแหล่งหรือท่อน้ำสาธารณะ
  • หากมีสารเคมีรั่วไหลในอากาศ พยายามจัดการให้มีการระบายอากาศอย่างเพียงพอแล้วก่อน แล้วค่อยเข้าไประงับเหตุ อย่าลืมใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจด้วย
  • วางแผนและซักซ้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอยู่เสมอ หากเกิดเหตุขึ้นจริงจะได้อพยพและระงับเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

การทำงานกับสารเคมีให้ปลอดภัยนั้นมีข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติอยู่มากมาย ผู้ปฏิบัติงานจะต้องยึดถือแนวทางเหล่านี้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ผู้อื่น สัตว์ต่างๆรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมด้วย

บริการของเรา

อบรมความปลอดภัย 6 ชม
อบรม ISO
อบรมดับเพลิง
อบรมนั่งร้าน
อบรมการทำงานบนที่สูง
อบรมที่อับอากาศ
อบรมผู้เฝ้าระวังไฟ
อบรมเครน
อบรมรถยก
อบรมไฟฟ้า
อบรม จป บริหาร
อบรมอันตรายจากเสียงดัง
อบรมปฐมพยาบาล